Iceland, Republic of

สาธารณรัฐไอซ์แลนด์




     สาธารณรัฐไอซ์แลนด์เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวในทวีปยุโรปตอนเหนือและเป็นเกาะขนาดใหญ่ ในอดีตเป็นดินแดนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะกับกลุ่มดินแดนในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) ไอซ์แลนด์เป็นประเทศแรกในทวีปยุโรปที่จัดตั้งรัฐสภา (parliament) ขึ้นเพื่อปกครองประเทศตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ ใน ค.ศ. ๑๒๖๒ ได้ตกเป็นของนอร์เวย์ ต่อมาในค.ศ. ๑๓๘๐ ได้ถูกเดนมาร์ก เข้าครอบครองและปกครองติดต่อกันเป็นเวลาเกือบ๖ ศตวรรษ ไอซ์แลนด์ได้อำนาจปกครองตนเองใน ค.ศ. ๑๙๑๘ แต่ยังคงมีพระประมุขร่วมกันกับเดนมาร์ก จนถึง ค.ศ. ๑๙๔๔ จึงสามารถแยกตัวเป็นอิสระได้อย่างสมบูรณ์และสถาปนาระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐไอซ์แลนด์ซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับ ๒ ของทวีปยุโรปรองจากเกาะบริเตนใหญ่ เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ประเทศหนึ่งในทวีปยุโรปตอนเหนือก่อนคริสต์ศตวรรษที่ ๙ ได้มีนักบวชในคริสต์ศาสนาชาวไอริชเดินทางเข้ามาจำศีลในไอซ์แลนด์ ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนที่ไม่มีผู้คนอาศัย ต่อมา ใน ค.ศ. ๘๗๔ อิงกอล์ฟูร์
     อาร์นาส์ซอน (Ingolfur Arnasson) ชาวไวกิ้ง (Viking) จากนอร์เวย์ พร้อมด้วยผู้ติดตามจำนวนหนึ่งได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอย่างถาวรในบริเวณที่เป็นกรุงเรกยะวิก(Reykjavik) เมืองหลวงในปัจจุบัน และประกอบอาชีพในการเลี้ยงสัตว์และการเพาะปลูกนับแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีผู้อพยพจากดินแดนในคาบสมุทรสแกนดิเนเวียและหมู่เกาะอังกฤษ (British Isles) เดินทางเข้ามาสมทบมากขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณว่าใน ค.ศ. ๙๓๐ประชากรในไอซ์แลนด์อาจมีจำนวนสูงถึง ๖๐,๐๐๐ คน นับเป็นชุมชนขนาดใหญ่ชุมชนหนึ่ง ได้มีการจัดตั้งรัฐสภาซึ่งมีชื่อเรียกว่าสภาแอลติง (Althing) ขึ้น นับว่าเป็นรัฐสภาแห่งแรกในทวีปยุโรปหรือแห่งแรกในโลก
     ระบอบการปกครองของไอซ์แลนด์ในระยะแรกมีลักษณะเป็นเครือรัฐ(commonwealth) หรือสาธารณรัฐ (republic) แต่ไม่มีผู้มีอำนาจสูงสุดทางฝ่ายบริหารหรือมีประมุขสูงสุดของประเทศ สภาแอลติงมีอำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติและตุลาการ แต่ในทางปฏิบัติการบังคับใช้อำนาจดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ “คณะบุคคลรับร้องทุกข์” (aggrieved party) ซึ่งอยู่ในการดู แลของผู้นำเผ่าที่มีอำนาจลักษณะการปกครองดังกล่าวนี้ได้ดำเนินเป็นระยะเวลากว่า ๓๐๐ ปี ขณะเดียวกันไอซ์แลนด์ก็เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและมีความมั่งคั่ง พ่อค้าชาวไอซ์แลนด์ได้นำสินค้า เช่น ปลา แมวน้ำ สัตว์ปีก ผ้าขนสัตว์ หนังวัว และอื่น ๆ เดินทางทางทะเลไปค้าขายกับดินแดนสแกนดิเนเวีย หมู่เกาะอังกฤษ และดินแดนในภาคพื้นทวีป ในค.ศ. ๙๘๕อีิรคเดอะเรด (Eric the Red) ได้เข้ายึดครองเกาะกรีนแลนด์ (Greenland)ซึ่งอยู่ห่างจากไอซ์แลนด์ไปทางตะวันตก ๒๙๐ กิโลเมตรเป็นอาณานิคม ต่อมาีลฟ อีิรคซอน (Lief Ericson) บุตรชายก็ได้แล่นเรือไปทางทิศตะวันตกจนขึ้นฝั่งที่ทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งชาวไอซ์แลนด์ตั้งชื่อว่า วินแลนด์ (Vinland) แต่ประสบปัญหาในการตั้งถิ่นฐานจึงเดินทางกลับ ส่วนในด้านศิลปวัฒนธรรมไอซ์แลนด์เป็นผู้นำของดินแดนแถบคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย กวีและนักเล่าเรื่องชาวไอซ์แลนด์ต่างประสบความสำเร็จในการเดินทางไปขับกล่อมและให้ความบันเทิงแก่ผู้ฟังทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่วนงานด้านวรรณกรรมก็ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาเขียน
     อย่างไรก็ดี “ยุคทอง” ของไอซ์แลนด์ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ในประวัติศาสตร์ ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒อุณหภูมิในไอซ์แลนด์เริ่มเปลี่ยนแปลงอากาศมีความหนาวเย็นมากขึ้น ทำให้ต้นไม้โดยทั่วไปล้มตายลง ส่วนการเกษตรก็ประสบความล้มเหลวเพราะอุณหภูมิที่ต่ำลง การส่งสินค้าออกจึงลดน้อยลงเป็นลำดับ นอกจากนี้ ไอซ์แลนด์ยังขาดต้นไม้ขนาดใหญ่เพื่อนำเอาซุงมาสร้างเรือสินค้าที่สามารถท่องในมหาสมุทรได้อีกด้วย ความหายนะทางเศรษฐกิจดังกล่าวกอปรกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่เริ่มขึ้นใน ค.ศ. ๑๐๐๐ ที่สภาแอลติงยินยอมให้คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาประจำชาติของไอซ์แลนด์และมีผลให้พวกพระหรือนักบวชเป็นผู้นำของชุมชนได้ จึงทำให้อำนาจของผู้นำเผ่าหรือชุมชนตกอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คน ใน ค.ศ. ๑๒๒๐ ไอซ์แลนด์มีตระกูลใหญ่เพียง ๖ ตระกูลเท่านั้นที่ปกครองดินแดนทั่วทั้งประเทศ และต่างก็แก่งแย่งกันเป็นใหญ่ สงครามกลางเมืองจึงอุบัติขึ้นและเปิดโอกาสให้พระเจ้าฮากอนที่ ๔ (Haakon IV ค.ศ. ๑๒๑๗-๑๒๖๓) แห่งนอร์เวย์ ยกกองทัพเข้าไอซ์แลนด์ในค.ศ. ๑๒๖๒ และบีบบังคับให้ชาวไอซ์แลนด์ยอมรับพระองค์เป็นประมุขสูงสุด ระบอบการปกครองแบบเครือรัฐหรือสาธารณรัฐของไอซ์แลนด์จึงสิ้นสุดลงด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๓๘๐ หลังจากพระเจ้าฮากอนที่ ๖ (Hakon VI ค.ศ. ๑๓๕๕-๑๓๘๐)แห่งนอร์เวย์ เสด็จสวรรคต ราชบัลลังก์นอร์เวย์ ตกเป็นของเดนมาร์ก ซึ่งมีผลให้ไอซ์แลนด์ต้องอยู่ใต้อำนาจของกษัตริย์เดนมาร์ก เป็นเวลาเกือบ ๖๐๐ ปี ในระยะแรกไอซ์แลนด์มีสถานภาพเป็นเพียงทรัพย์สินหรือที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์ (royal fief)เท่านั้น และถูกลดความสำคัญลงเป็นลำดับ ระหว่าง ค.ศ. ๑๔๐๐-๑๘๕๐อาจนับได้ว่าเป็นยุคมืดของประเทศที่ประชาชนต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เริ่มต้นด้วยกาฬโรคระบาดใน ค.ศ. ๑๔๐๒ ที่คร่าชีวิตของชาวไอซ์แลนด์มากกว่าร้อยละ ๖๕จนไม่สามารถรวมพลังกันเพื่อต่อต้านการครอบครองของชนต่างชาติได้ นอกจากนี้การค้ายังตกตำเป่ ็นอันมากซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการค้าของเดนมาร์ก ที่ต้องการทำลายไอซ์แลนด์ไม่ให้เป็นคู่แข่งขันทางการค้ากับเดนมาร์ก ในการติดต่อค้าขายกับอังกฤษและดินแดนเยอรมัน การกีดกันทางการค้าดังกล่าวจึงทำให้การค้าของไอซ์แลนด์ต้องสลายตัวลงในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ และผู้คนต่างสิ้นเนื้อประดาตัว
     ในสมัยการปฏิรูปศาสนา (Reformation) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖พระเจ้าคริสเตียนที่ ๓ (Christian III ค.ศ. ๑๕๓๔-๑๕๕๙) แห่งเดนมาร์ก ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะเข้ายึดทรัพย์สินของวัดคาทอลิกทั้งหมดโดยบีบบังคับให้ไอซ์แลนด์หันมานับถือคริสต์ศาสนานิกายลู เทอร์รัน (Lutheranism) ปฏิบัติการดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มพูนอำนาจและพระราชทรัพย์แล้ว ยังทำให้อำนาจทางการเมืองของกษัตริย์เดนมาร์ก ในไอซ์แลนด์มั่นคงยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องหวั่นเกรงต่ออำนาจของพระราชาคณะในศาสนจักรคาทอลิกอีกต่อไป ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๖๐๒ เดนมาร์ก ก็สามารถนำระบบผูกขาดการค้าเข้าไปบังคับใช้ในไอซ์แลนด์ โดยกำหนดให้พ่อค้าที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้นที่สามารถค้าขายในไอซ์แลนด์ได้ โดยพ่อค้าผู้นั้นต้องจ่ายเงินค่าใบอนุญาตที่เรียกว่า “กฎบัตร” (charter) ในราคาสูง ข้อกำหนดดังกล่าวจึงทำให้สินค้านำเข้าที่ไอซ์แลนด์ต้องการ เช่น ข้าว ไม้แปรรูป และเครื่องโลหะมีราคาสูงมากขึ้นขณะที่ิสนค้าส่งออกที่สำคัญคือ ปลาและขนสัตว์มีราคาตำกว่ ่าราคาท้องตลาดมากเพราะถูกกดราคา ในเวลาอันรวดเร็ว ไอซ์แลนด์ก็ต้องประสบกับความวิบัติทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลเป็นระยะเวลาอันยาวนาน
     ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ไอซ์แลนด์บรรลุถึงยุคตกตำท่ ี่สุด จำนวนประชากรได้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ประมาณว่าในปลายศตวรรษ ไอซ์แลนด์มีประชากรเพียง ๓๕,๐๐๐ คนเท่านั้น ส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากการระบาดของไข้ทรพิษระหว่างค.ศ. ๑๗๐๗-๑๗๐๙ ทุพภิกขภัยในกลางศตวรรษและการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟลากี(Laki) ใน ค.ศ. ๑๗๘๓อย่างไรก็ดีในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เดนมาร์ก ก็เริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติและนโยบายที่มีต่อไอซ์แลนด์ โดยพยายามที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของไอซ์แลนด์ มีการจัดตั้งอุตสาหกรรมฝ้ายขึ้นที่กรุงเรกยะวิก และในค.ศ. ๑๗๘๗ ก็ยอมยกเลิกระบบผูกขาดการค้าในไอซ์แลนด์ที่ดำเนินมาเป็นเวลา๑๘๕ ปีนับแต่ ค.ศ. ๑๖๐๒ เป็นต้นมา โดยผ่อนปรนให้พลเมืองทุกคนในปกครองของกษัตริย์เดนมาร์ก มีสิทธิที่จะค้าขายได้อย่างอิสระในไอซ์แลนด์
     อย่างไรก็ดีใน ค.ศ. ๑๘๐๐ ไอซ์แลนด์ได้ถูกเดนมาร์ก ลิดรอนอำนาจมากขึ้นสภาแอลติงที่ก่อตั้งตั้งแต่สมัยเครือรัฐหรือสาธารณรัฐถูกประกาศยุบ แต่เมื่อเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789) สงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๓-๑๘๑๕) และโดยเฉพาะการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolution ค.ศ ๑๘๓๐) ที่เริ่มจากฝรั่งเศส และลุกลามไปทั่วยุโรปซึ่งทำให้กษัตริย์เดนมาร์ก ต้องสูญเสียอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสร้างกระแสชาตินิยมและเสรีนิยมขึ้นในหมู่ชาวไอซ์แลนด์ โยน ซิกูร์ดซอน (Jón Sigurdssonค.ศ. ๑๘๑๑-๑๘๗๙) ปัญญาชนและนักการเมืองชาวไอซ์แลนด์ได้เป็นผู้นำเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้แก่ประชาชนดังนั้นเพื่อลดแรงกดดัน รัฐบาลเดนมาร์ก จึงจำต้องอนุญาตให้มีการฟื้นฟูสภาแอลติงขึ้นใหม่ใน ค.ศ. ๑๘๔๓ แต่ให้มีอำนาจเป็นเพียงสภาที่ปรึกษาเท่านั้น ใน ค.ศ. ๑๘๕๔ ไอซ์แลนด์ก็สามารถทำการค้าโดยเสรีกับชนทุกชาติได้ ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๗๔ ซึ่งครบรอบ ๑,๐๐๐ ปีของการตั้งถิ่นฐานของพวกอพยพรุ่นแรกในไอซ์แลนด์ รัฐบาลเดนมาร์ก ก็ยินยอมมอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แก่ชาวไอซ์แลนด์และคืนอำนาจนิติบัญญัติให้แก่สภาแอลติงรวมทั้งให้สภาแอลติงมีอำนาจในการจัดการเรื่องการเงินภายในประเทศได้อย่างไรก็ดีอำนาจการบริหารยังเป็นของรัฐบาลเดนมาร์ก ที่ยังคงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบที่จะให้ไอซ์แลนด์ได้รับสิทธิปกครองตนเอง (home rule)
     ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ สภาพเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของไอซ์แลนด์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ ไอซ์แลนด์ได้รับสิทธิปกครองตนเองจากเดนมาร์ก ซึ่งทำให้สามารถกำหนดนโยบายบริหารและดำเนินการพัฒนาปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยได้อย่างอิสระ ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ มีการวางสายโทรเลขเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ สร้างประภาคารและเรือประมงก็หันมาใช้เครื่องจักรไอน้ำและเครื่องยนต์ นอกจากนี้ ชาวไอซ์แลนด์เริ่มเป็นเจ้าของกิจการค้าต่าง ๆ และการค้ากับต่างประเทศมีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง การอพยพออกนอกประเทศของชาวไอซ์แลนด์เพื่อหนีความยากจนไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินมาตั้งแต่ทศวรรษ๑๘๘๐ ก็ลดจำนวนลงมาก ก่อให้เกิดการเพิ่มจำนวนของประชากรและการขยายตัวของชุมชนรอบ ๆ บริเวณสะพานปลา ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ได้มีการจัดตั้งบริษัทเรือกลไฟไอซ์แลนด์ (Eimskipafjelag Islands - Iceland Steamship Company) ขึ้นและในไม่ช้าก็สามารถรวมกิจการของบริษัทต่างประเทศอื่น ๆ ได้ ในระยะเวลาเดียวกัน ก็มีการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกให้ทันสมัย เพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าและชุมชน มีการสร้างถนนซึ่งเป็นของใหม่สำหรับไอซ์แลนด์เพื่อเชื่อมชุมชนต่าง ๆ ตลอดจนเส้นทางขนส่งสินค้าประมงจากสะพานปลา ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ไอซ์แลนด์จึงเริ่มมีรถยนต์ใช้กันเป็นครั้งแรก และนับแต่นั้นเป็นต้นมา รถยนต์ก็เป็นพาหนะหลักของการคมนาคมขนส่งภายในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลไอซ์แลนด์ยังส่งเสริมการศึกษา โดยการออกพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับใน ค.ศ. ๑๙๐๗ และต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ซึ่งเป็นปีครบรอบวันเกิด ๑๐๐ ปีของโยนซิกูร์ดซอน ผู้นำขบวนการชาตินิยมไอซ์แลนด์ที่มีบทบาทสำคัญในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก็ได้มีการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งไอซ์แลนด์ (University of Iceland) ขึ้น
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลง เดนมาร์ก ซึ่งประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองจึงยินยอมทำสนธิสัญญาสหภาพเดนมาร์ก -ไอซ์แลนด์(Treaty of Union) โดยมอบเอกราชในระดับหนึ่งให้แก่ไอซ์แลนด์เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคมค.ศ. ๑๙๑๘ อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาดังกล่าวยังคงให้อำนาจเดนมาร์ก ในการควบคุมนโยบายต่างประเทศ และกษัตริย์ของเดนมาร์ก [พระเจ้าคริสเตียนที่ ๑๐(Christian X) ค.ศ. ๑๙๑๒-๑๙๔๗] ทรงมีฐานะเป็นพระประมุขของไอซ์แลนด์ต่อไปสนธิสัญญามีกำหนด ๒๕ ปี แต่ให้อำนาจแก่ทั้ง ๒ ฝ่ายในการยกเลิกสนธิสัญญาได้
     ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังจากเดนมาร์ก ได้ถูกกองทัพเยอรมันเข้ารุกรานเพื่อใช้เป็นฐานทัพในยุโรปตอนเหนือ ปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวจึงทำให้รัฐบาลอังกฤษส่งกองกำลังเข้ายึดครองไอซ์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ เพื่อป้องกันเยอรมนี ใช้ไอซ์แลนด์เป็นฐานปฏิบัติการ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๑ อังกฤษได้ถอนกองกำลังออกจากไอซ์แลนด์แต่ให้กองทัพสหรัฐอเมริกาเข้าควบคุมแทน โดยใช้ไอซ์แลนด์เป็นฐานปฏิบัติการทางอากาศซึ่งไอซ์แลนด์ก็ให้ความร่วมมือกับฝ่ายพันธมิตรอย่างดีตลอดช่วงสงคราม กองทัพอเมริกันก็ได้ประจำการในไอซ์แลนด์ จนสงครามสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๔๕ ขณะที่กองทัพอเมริกันเข้ายึดครองไอซ์แลนด์ดังกล่าวนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๔ สภาแอลติงได้จัดให้มีการแสดงประชามติเพื่อต่อสนธิสัญญาสหภาพเดนมาร์ก -ไอซ์แลนด์ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน ประชาชนจำนวนร้อยละ ๙๗.๓๕ ของผู้มาลงคะแนนเสียงปฏิเสธที่จะให้มีการต่ออายุสนธิสัญญาดังนั้น ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ ไอซ์แลนด์จึงประกาศเอกราชจัดตั้งระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐขึ้น โดยแยกตัวเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์จากเดนมาร์ก ที่ผูกพันกันมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๓๘๐ โดยมีสวีอินน์บอนส์ซอน (Sveinn Bornsson)ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ
     ไอซ์แลนด์ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ(United Nations)ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NorthAtlantic Treaty Organization - NATO) ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ แต่เนื่องจากไอซ์แลนด์ไม่มีทหารหรือฐานทัพ นอกจากยามรักษาการณ์ชายฝั่งจำนวนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นภายใต้ข้อตกลงของสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ไอซ์แลนด์จึงจำเป็นต้องอนุญาตให้ตั้งฐานทัพใกล้เมืองเคฟลาวิก (Keflavik) ห่างจากกรุงเรกยะวิกประมาณ๔๐ กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาสหรัฐอเมริกาได้ประกาศจะถอนกำลังทางอากาศทั้งหมดออกจากไอซ์แลนด์ภายในเดือนกันยายน ค.ศ. ๒๐๐๖ ส่วนในความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ไอซ์แลนด์เข้าเป็นสมาชิกสภายุโรป (Council ofEurope) ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ สภานอร์ดิก (Nordic Council) ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ และสมาคมการค้าเสรียุโรปหรือเอฟตา (European Free Trade Association - EFTA)ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมของประเทศ ต่อมาในทศวรรษ ๑๙๙๐ ไอซ์แลนด์ซึ่งมีเสถียรภาพที่มั่นคงทางเศรษฐกิจก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area)ใน ค.ศ. ๑๙๙๔ด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๙๘๐ วิกดีส ฟินน์โบกาดอต์ทีร์ (Vigd”s Finnbogadóttir) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ และนับเป็นสตรีคนแรกของทวีปยุโรปและของโลกที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาลและประมุขของประเทศในระบบการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย พรรคการเมืองสำคัญของไอซ์แลนด์คือพรรคเอกราช (Independence Party) พรรคสังคมประชาธิปไตย (SocialDemocratic Party) และพรรคก้าวหน้า (Progressive Party) พรรคการเมืองดังกล่าวมักรวมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมบริหารประเทศโดยมีพรรคเอกราชเป็นแกนนำ
     รายได้หลักของไอซ์แลนด์ ได้แก่ การประมง ความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการที่ไอซ์แลนด์สามารถทำให้นานาประเทศโดยเฉพาะอังกฤษซึ่งมีข้อพิพาทกันมากที่สุดเรียกว่า “สงครามปลาคอด” (Cod War) ในเรื่องสิทธิการทำประมงในน่านน้ำรอบ ๆ ไอซ์แลนด์ยอมรับสิทธิดังกล่าวของไอซ์แลนด์ในเวทีการเมืองระดับโลกให้ไอซ์แลนด์ขยายน่านน้ำเป็น ๓๒๐ กิโลเมตร (๒๐๐ ไมล์) ได้ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ ทำให้ไอซ์แลนด์ได้ครอบครองเขตประมงที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลก ก่อนสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ สินค้าส่งออกของไอซ์แลนด์ประมาณร้อยละ ๗๐ เป็นอาหารทะเลและไอซ์แลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่จับปลาได้มากที่สุดในโลก กล่าวคือได้มากกว่า๗๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี หรือโดยเฉลี่ยประมาณ ๒.๕ ตันต่อประชากร ๑ คน และเป็นประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในเดือนกรกฎาคมค.ศ. ๒๐๐๑ ไอซ์แลนด์ได้เข้าร่วมประชุมในคณะกรรมาธิการว่าด้วยการจับปลาวาฬ(International Whaling Commission) แต่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในข้อตกลงกำหนดการจับปลาวาฬซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๖ แม้ไอซ์แลนด์จะยินยอมยุติการจับปลาวาฬ แต่อาจเป็นเพียงชั่วระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๒๐๐๖ไอซ์แลนด์เริ่มจับปลาวาฬอีกครั้งหนึ่ง แต่เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น.
     

ชื่อทางการ
สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ (Republic of Iceland)
เมืองหลวง
เรคยาวิก (Reykjavik)
เมืองสำคัญ
เคาพาวอกือร์ (Kópavogur) ฮัฟนาร์ฟยือร์ทูร์ (Hafnarfjordhur) และอาคูเรรี(Akureyri)
ระบอบการปกครอง
สาธารณรัฐ
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๑๐๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือกับมหาสมุทร อาร์กติก ห่างจากเกาะกรีนแลนด์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ๒๔๙ กิโลเมตร และห่างจากประเทศนอร์เวย์ไปทางทิศตะวันตก ๙๑๗ กิโลเมตร มีช่องแคบเดนมาร์กกั้นระหว่างเกาะไอซ์แลนด์กับเกาะกรีนแลนด์ และทะเลนอร์ีวเจียนกั้นระห
จำนวนประชากร
๓๐๑,๙๓๑ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
ไอซ์แลนด์ร้อยละ ๙๔ และอื่น ๆ ร้อยละ ๖
ภาษา
ไอซ์แลนด์
ศาสนา
คริสต์นิกายลูเทอรันร้อยละ ๘๕.๕ อื่น ๆ ร้อยละ ๘.๓ ไม่ระบุร้อยละ ๓.๘ และไม่นับถือศาสนาร้อยละ ๒.๔
เงินตรา
โครนไอซ์แลนด์ (Icelaudic knona)
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันตชัย เลาหะพันธุ
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป
ชาวไอซ์แลนด์นิยมเรียกเฉพาะชื่อต้น และมีธรรมเนียมการเรียกชื่อสกุลที่แตกต่างไปจากชาวยุโรปอื่น ๆ ที่ยังคง สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ เขาจะใช้ชื่อต้นของบิดาเป็นนามสกุล ในกรณีที่เป็นบุตรชาย จะใส่คำว่า “son” (บุตร) ต่อท้ายชื่อของบิดา และ “dóttir”(บุตรี) ในกรณีที่เป็นบุตรสาว ตัวอย่างเช่น Magaret เป็นบุตรสาวของ Asgeir Ericson (แอสกีร์อีริคซอน) จะมีชื่อเรียกเต็มว่า Magaret Asgeirdóttir (มากาเร็ต แอสกีร์ดอต์ทีร์)